อัพเดต! อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2566 ใครต้องจ่าย? ต้องจ่ายเท่าไหร่?
อยากมีอสังหาริมทรัพย์เป็นของตัวเองต้องรู้! ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร? ต้องจ่ายหรือไม่? เราจะมาไขข้อสงสัยไปพร้อม ๆ กัน
ก่อนอื่นเลยทุกท่านอาจยังไม่ทราบว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ถูกนำมาแทนที่ “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” และ “ภาษีบำรุงท้องที่” มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องด้วยความทับซ้อนทางกฏหมาย ทำให้มีการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 และมีผลต่อการเก็บภาษีตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลก็ออกประกาศปรับลดภาษีมาจนถึงปี 2566 ทำให้ในปีถัด ๆ ไป เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจไม่คุ้นเคยกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจ่ายภาษีในปี 2567 เราจึงรวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาให้ในบทความนี้…
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คืออะไร?
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ภาษีที่ดิน” คือ การเรียกเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนที่ดินนั้น การคำนวณจะขึ้นอยู่กับมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ โดยปกติแล้วจะใช้ราคาตลาดหรือการประเมินมูลค่าทางที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม ซึ่งการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ดินหรือเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง โดยผู้ที่เสียภาษีจะต้องมีเงื่อนไข ดังนี้
- เจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ (ดูตามโฉนด ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน)
- ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ (สามารถเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้)
โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของทุกปีจะมีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปีนั้นเป็นต้นไป ในกรณีที่มีผู้ครอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 1 คนขึ้นไป ทุกคนจะต้องรับผิดชอบภาษีดังกล่าวร่วมกัน รวมถึงในกรณีที่เจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่คนเดียวกัน ก็จะต้องเสียภาษีเฉพาะที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ตนเองครอบครอง
วิธีการคำนวนภาษีที่ดิน ฉบับอัพเดตปี 2566
1. ที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ต้องจ่าย = มูลค่าที่ดิน* x อัตราภาษี
2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ต้องจ่าย = (มูลค่าที่ดิน* + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง**) x อัตราภาษี
3. ห้องชุด
ภาษีที่ต้องจ่าย = มูลค่าห้องชุด*** x อัตราภาษี
*มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน
**มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา
***มูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)
ประเภทและอัตราการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566
ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
สำหรับที่ดินที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.01 – 0.1% ซึ่งแบบได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- บุคคลธรรมดา จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตรา ดังนี้
มูลค่าที่ดิน
อัตราภาษี
มูลค่าเท่ากับ
0-50 ล้านบาท
ได้รับการยกเว้นภาษี
50-125 ล้านบาท
0.01%
ล้านละ 100 บาท
125-150 ล้านบาท
0.03%
ล้านละ 300 บาท
150-550 ล้านบาท
0.05%
ล้านละ 500 บาท
550-1,050 ล้านบาท
0.07%
ล้านละ 700 บาท
1,050 ล้านบาทขึ้นไป
0.10%
ล้านละ 1,000 บาท
- นิติบุคคล จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตรา ดังนี้
มูลค่าที่ดิน
อัตราภาษี
มูลค่าเท่ากับ
0-75 ล้านบาท
0.01%
ล้านละ 100 บาท
75-100 ล้านบาท
0.03%
ล้านละ 300 บาท
100-500 ล้านบาท
0.05%
ล้านละ 500 บาท
500-1,000 ล้านบาท
0.07%
ล้านละ 700 บาท
1,000 ล้านบาทขึ้นไป
0.10%
ล้านละ 1,000 บาท
ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย
สำหรับที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย จะต้องเสียภาษีในอัตราตั้งแต่ 0.02 – 0.1% โดยแบ่งตามประเภทของเจ้าของที่ดิน ดังนี้
บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตรา ดังนี้
มูลค่าที่ดิน
อัตราภาษี
มูลค่าเท่ากับ
0-50 ล้านบาท
ได้รับการยกเว้นภาษี
50-75 ล้านบาท
0.03%
ล้านละ 300 บาท
75-100 ล้านบาท
0.05%
ล้านละ 500 บาท
100 ล้านบาทขึ้นไป
0.10%
ล้านละ 1,000 บาท
- บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตรา ดังนี้
มูลค่าที่ดิน
อัตราภาษี
มูลค่าเท่ากับ
0-10 ล้านบาท
ได้รับการยกเว้นภาษี
10-50 ล้านบาท
0.02%
ล้านละ 200 บาท
50-75 ล้านบาท
0.03%
ล้านละ 300 บาท
75-100 ล้านบาท
0.05%
ล้านละ 500 บาท
100 ล้านบาทขึ้นไป
0.10%
ล้านละ 1,000 บาท
- บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง 2 หลังขึ้นไป จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตรา ดังนี้
มูลค่าที่ดิน
อัตราภาษี
มูลค่าเท่ากับ
0-50 ล้านบาท
0.02%
ล้านละ 200 บาท
50-75 ล้านบาท
0.03%
ล้านละ 300 บาท
75-100 ล้านบาท
0.05%
ล้านละ 500 บาท
100 ล้านบาทขึ้นไป
0.10%
ล้านละ 1,000 บาท
ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม
เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ โดยถูกนำมาใช้ในลักษณะออฟฟิศ สำนักงาน โรงแรม หรือแม้แต่ธุรกิจร้านอาหาร โดยอัตราภาษีตั้งแต่ 0.3 – 0.7% ดังนี้
มูลค่าที่ดิน | อัตราภาษี | มูลค่าเท่ากับ |
0-50 ล้านบาท | 0.3% | ล้านละ 3,000 บาท |
50-200 ล้านบาท | 0.4% | ล้านละ 4,000 บาท |
200-1,000 ล้านบาท | 0.5% | ล้านละ 5,000 บาท |
1,000-5,000 ล้านบาท | 0.6% | ล้านละ 6,000 บาท |
5,000 ล้านบาทขึ้นไป | 0.7% | ล้านละ 7,000 บาท |
ที่ดินรกร้างว่างเปล่า
เป็นที่ดินที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ โดยปล่อยให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จะต้องเสียภาษีที่ดินว่างเปล่าตั้งแต่ 0.3 – 0.7% เช่นกัน โดยคำนวณได้ ดังนี้
มูลค่าที่ดิน | อัตราภาษี | มูลค่าเท่ากับ |
0-50 ล้านบาท | 0.3% | ล้านละ 3,000 บาท |
50-200 ล้านบาท | 0.4% | ล้านละ 4,000 บาท |
200-1,000 ล้านบาท | 0.5% | ล้านละ 5,000 บาท |
1,000-5,000 ล้านบาท | 0.6% | ล้านละ 6,000 บาท |
5,000 ล้านบาทขึ้นไป | 0.7% | ล้านละ 7,000 บาท |
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีขั้นตอนการจ่ายอย่างไรบ้าง?
โดยปกติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องจ่ายภายในเดือนเมษายนของทุกปี แต่ในบางปีอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามกำหนดของรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่จะขยายระยะเวลาการชำระออกไป ซึ่งวิธีการดำเนินขั้นตอนการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีขั้นตอน ดังนี้
- เจ้าหน้าที่จาก อปท. จะทำการสำรวจทรัพย์สินพื้นที่เจ้าของบ้าน โดยมีระยะเวลาคำนวณมูลค่าประมาณ 15 วัน โดยวัดขนาดของที่ดินด้วยหน่วยตารางวาแบบเต็มแปลน วัดขนาดสิ่งปลูกสร้างด้วยหน่วยที่ตั้งอยู่บนดินทั้งหมดด้วยหน่วงตารางเมตร และทำการสำรวจอายุประเภท ลักษณะของทรัพย์สิน
- จากนั้นจะสรุปจำนวน ประเภท และราคาทั้งหมดแล้วลงบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ต้องเสียภาษีเป็นรายบุคคล โดยจะได้รับข้อมูล 4 ส่วน คือ รายการที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ราคาประเมินทุนทรัพย์ อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนวนยอดภาษีที่ต้องชำระทั้งหมด
- เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องไปจ่ายภาษีตามที่กำหนด ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในเขตที่สิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ โดยสามารถไปเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ที่องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) โดยแบ่งเป็น 4 แบบ คือ
- กรุงเทพฯ สามารถชำระได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่ทรัพย์สินตั้งอยู่
- พัทยา สามารถชำระได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
- จังหวัดอื่น ๆ สามารถชำระได้ที่สำนักงานเทศบาล, ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบล, ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายกำหนด หรือสถานที่อื่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนด รวมทั้งจุดบริการเคลื่อนที่ที่ อปท. กำหนด
- หรือหากต้องการชำระสามารถจ่ายภาษีที่ดินบ้านหลังแรก ภาษีที่ดินคอนโด ภาษีที่ดินใหม่ ภาษีที่รกร้างว่างเปล่า และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ที่สำนักเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , ไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ , ชำระผ่านตู้ผ่านตู้ ATM หรือจ่ายออนไลน์กับธนาคารกรุงไทยได้ทุกสาขา
- เจ้าหน้าที่จะดำเนินการเร่งรัดภาษีค้างชำระกับผู้ที่ไม่มาจ่ายภาษีตามกำหนด
- ในกรณีที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องการคัดค้าน อุทธรณ์ ฟ้องคดีภาษี หรือต้องการแจ้งยอดภาษีที่ไม่ถูกต้อง จะต้องแจ้งแก่ผู้บริหารท้องถิ่นภายใน 30 วันหลังจากได้รับใบแจ้งจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- ในกรณีที่จ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจ่ายภาษีเกิน สามารถยื่นเรื่องการขอคืนภาษีผ่าน เว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้
หากจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช้า มีเบี้ยปรับเท่าไหร่?
- เบี้ยปรับ 40% ของภาษีที่ค้างชำระ หากมาชำระภาษีล่าช้า แต่ชำระเกินระยะเวลาที่กำหนดตามที่หนังสือแจ้งเตือนระบุไว้
- เบี้ยปรับ 20% ของภาษีที่ค้างชำระ หากมาชำระภาษีล่าช้า แต่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดตามที่หนังสือแจ้งเตือนระบุไว้
- เบี้ยปรับ 10% ของภาษีที่ค้างชำระ หากมาชำระภาษีล่าช้า แต่ชำระก่อนได้รับหนังสือแจ้งเตือน
- ดอกเบี้ยเงินเพิ่ม 1% ต่อเดือน ของภาษีที่ค้างชำระ หากมาชำระภาษีล่าช้าโดยนับตั้งแต่วันที่การชำระเกินระยะเวลาที่กำหนดตามที่หนังสือแจ้งเตือนระบุไว้
- ดอกเบี้ยเงินเพิ่ม 0.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ค้างชำระ หากมาชำระภาษีล่าช้าโดยนับตั้งแต่วันที่การชำระเกินระยะเวลาที่กำหนดตามที่หนังสือแจ้งเตือนระบุไว้ แต่ในกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นให้ขยายกำหนดเวลาชำระภาษี และได้ชำระภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้
- โทษจำคุกสูงสุด 2 ปี พร้อมค่าปรับ 40,000 บาท หากผู้ชำระนำหลักฐานเท็จมายืนยันการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกการทุจริต ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะปรับยกเว้นแต่ใบแจ้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนิติบุคคลเป็นคนกระทำผิดเอง จะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากความผิดเป็นฝ่ายนิติบุคคลจริง จะถูกลงโทษตามกฎเช่นเดียวกัน
เบี้ยปรับอาจงดได้ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกยึดหรืออายัดตามกฎหมาย โดยเราจะต้องยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อของดเบี้ยปรับของภาษีที่ค้างชำระ
สรุป
เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นง่ายนิดเดียว เพียงแค่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องหมั่นตรวจสอบที่ดินของตนเองอยู่เสมอว่าเป็นที่ดินแบบใด มีมูลค่าเท่าใด ต้องจ่ายภาษีเท่าใด และแต่ละปีมีกำหนดจ่ายเมื่อใด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฏหมายและเพื่อสิทธิประโยชน์ของตนเองด้วยเพียงเท่านี้ก็สามารถถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้อย่างถูกต้องแล้ว!